ผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบำบัดสารอันตรายที่ตกค้างในพื้นที่การเกษตร และการฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ของศาสตราจาร์ ดร. อลิสา วังใน และทีมวิจัยหน่วยปฏิบัติการด้านตัวเร่งชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ภายใต้โปรแกรมวิจัยของสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา (สนผ.) ทำให้ผลิตภัณฑ์ “หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยการเจริญของพืชและย่อยสารตกค้าง” ได้รับการยอมรับจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จนเกิดการขยายผลต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ “เอ็นไซม์ล้างผักลดสารพิษ” ขึ้นในเวลาต่อมา ในขณะเดียวกันทีมวิจัยยังได้นำนวัตกรรมเพื่อการบำบัดดินนี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ดังจะเห็นได้จากโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมแนวทางการเกษตรและอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน
ตัวอย่างกิจกรรมถ่ายทอดความรู้
- โครงการการฝึกอบรม เกษตรกร บุคลากรทางการเกษตร และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เรื่อง “นวัตกรรมชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ คุณภาพชีวิตดีมีสุข”
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2563 หน่วยปฏิบัติการด้านตัวเร่งชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ร่วมกับศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี ได้จัดการอบรมเกษตรกร บุคลากรทางการเกษตร และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เรื่อง “นวัตกรรมชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ คุณภาพชีวิตดีมีสุข” โดยการสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) มีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยของนักวิชาการในจุฬาฯ ไปใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงเข้าสู่การจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรและเพิ่มคุณภาพชีวิตของชุมชน
กิจกรรมประกอบด้วยภาคการบรรยายโดยวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. อลิสา วังใน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตรตรา เพียภูเขียว, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพดล กิตนะ และ ดร.พิมสิริติยายน และภาคปฏิบัติ ในหัวข้อเกี่ยวกับการตกค้างและการกระจายตัวของสารปราบศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย การทำปุ๋ยหมัก การควบคุมศัตรูพืชในการทำเกษตรอินทรีย์ และการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในการช่วยการเจริญเติบโตของพืช การบำบัดและฟื้นฟูดิน โดยมีผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นเกษตรกร นักวิชาการการเกษตร และบุคคลทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 103 คน
- โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการทหารพันธุ์ดี เรื่อง “นวัตกรรมจุลินทรีย์คึกคัก เพื่อกล้าไม้คุณภาพ ส่งเสริม วนเกษตร เพิ่มป่า เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ คุณภาพชีวิตดีมีสุข”
โครงการทหารพันธุ์ดี กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานเมล็ดพันธุ์พืชผักแก่กำลังพลของกองทัพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีความรู้ความสามารถในการปลูกผักปลอดภัย สำหรับบริโภค
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแล้ว ยังเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตรตรา เพียภูเขียว และ ดร.พิมสิริติยายน ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการอบรม เชิงปฏิบัติการเรื่อง “นวัตกรรมจุลินทรีย์คึกคัก เพื่อกล้าไม้คุณภาพ ส่งเสริมวนเกษตร เพิ่มป่า เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ คุณภาพชีวิตดีมีสุข” ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอพียงฯ กองทัพภาคที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจของทหารพันธุ์ดี เกี่ยวกับผลกระทบจากการตกค้างของสารมลพิษในพื้นที่การเกษตร การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการใช้ประโยชน์จากหลักการทำงานของจุลินทรีย์ และการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกไม้ป่า รวมทั้งประโยชน์ของชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์อื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ทหารในโครงการทหารพันธุ์ดีเหล่านี้สามารถพัฒนาพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตรร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางวนเกษตร อันเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าร่วมกับการพัฒนาการเกษตรแบบปลอดภัย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร นอกจากนี้ ความปลอดภัยของผลิตผลทางการเกษตรยังช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพและราคาของอาหารและสินค้าในตลาดอาหารปลอดภัย ก่อให้เกิดผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ทหาร เกษตรกร ผู้ประกอบการและชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน กิจกรรมนี้มีทหารพันธุ์ดีจากจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมทั้งสิ้น 57 นาย อีกทั้งได้มีการนำนวัตกรรมจุลินทรีย์คึกคักและจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม และการใช้เชื้อราเห็ดเผาะ ในพื้นที่ปลูกป่าอีกหลายแห่ง โดยจะมีการรายงานผลกลับมาในกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาต่อยอดโครงการพัฒนาการเกษตรและวนเกษตรร่วมกันแบบยั่งยืนระหว่าง โครงการทหารพันธุ์ดี กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากความสำเร็จในการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทีมวิจัยจึงมีแผนการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่การใช้นวัตกรรมเพื่อการบำบัดดินและฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรให้สมบูรณ์สู่สาธารณชนและสู่หน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมแนวทางการเกษตรและอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศาสตราจารย์ ดร. อลิสา วังใน โทรศัพท์ 02-218-5416, 02-218-5430 E-mail : alisa.v@chula.ac.th