ขณะนี้สังคมออนไลน์ได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับการสกัดทองคำจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการต่างๆ ประกอบกับเป็นช่วงที่ราคาทองที่สูงขึ้นมาก ทำให้คลิปดังกล่าวได้รับความนิยมในการรับชมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวิธีการสกัดทองคำจากแผงวงจรโทรศัพท์มือถือ โดยอาจจะใช้การเผาหรือหลอม ใช้กรดกัดกร่อน ใช้สารประกอบไซยาไนด์ ซึ่งวิธีเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เช่น การเผาชิ้นส่วนพลาสติกแผงวงจรที่มีส่วนผสมของสารหน่วงไฟ (โบรมีน) เป็นองค์ประกอบ อาจทำให้เกิดอนุพันธ์ของสารกลุ่มไดออกซินและฟิวแรนที่เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งถือเป็นสารตกค้างที่ยาวนานปนเปื้อนในอากาศได้ ส่วนกรดที่ใช้เป็นสารกัดกร่อน ต้องมีการจัดการที่เหมาะสมเพราะอาจมีการปนเปื้อนโลหะหนักชนิดต่างๆ เช่นเดียวกันกับสารไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งกระบวนการสกัดทองคำดังกล่าวล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีโลหะมีค่าหลายชนิด เช่น ทองแดง ทองคำขาว เงิน เหล็ก นิกเกิล รวมถึงอลูมิเนียม เป็นต้น จากรายงานแผงวงจรทั่วไป (ทุกประเภท) เฉลี่ยมีทองคำเป็นองค์ประกอบอยู่ 0.004–0.02% หากมีการสกัดโดยวิธีที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คุณสมบัติที่โดดเด่นของทองคำจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้ดี มีความยืดหยุ่น และไม่เกิดสนิม จึงมีการนำทองคำมาใช้เป็นส่วนประกอบของแผงวงจรในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด เนื่องจากทองคำมีความต้านทานการกัดกร่อนและการนำไฟฟ้าสูง (รองลงมาจากทองแดงและเงิน) ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทองคำบริสุทธิ์น้อยลง จากเดิมใช้ทองคำบริสุทธิ์ทั้งชิ้นเปลี่ยนเป็นการชุบเคลือบผิววัสดุที่หนาบางแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

แม้ว่าในปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่แสดงให้เห็นอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อจะแก้ไขปัญหานี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตถึงการกำจัด ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายโดยผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น การสร้างจิตสำนึกจากหลายๆโครงการผ่านการสนับสนุนจากทางหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ ค่ายโทรศัพท์มือถือ รวมถึงโครงการจุฬารักษ์โลก โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 12 ที่ดำเนินการรับบริจาคโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ลดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดการที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการบริจาคโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตจำนวน 1 เครื่อง โครงการจุฬาฯรักษ์โลกและTES (ผู้รับกำจัดและรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) จะเปลี่ยนเป็นเงินบริจาค 10 บาท เข้า“กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ(CU Cancer Immunotherapy Fund)” สำหรับสนับสนุนการวิจัยด้านการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การบริจาคโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลืองานวิจัยแล้ว ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ระหว่างรอให้ประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : https://news.ch7.com/detail/557158?fbclid=IwAR2k9Vea9vPpcxBsLWxePaywjQ0L0XnyxA8BTxJs_C4Wjt830VEAEmL0XIQ