วันที่ 4 ตุลาคม 2567 คุณสุรชัย ลีวัฒนานุกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เป็นผู้แทนเข้ารับมอบเกียรติบัตรและของที่ระลึก เพื่อแสดงว่า ศสอ. ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรม “โครงการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จาก รองศาสตราจารย์ ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ณ อาคารสยามสเคป (SiamScape) ภายในงานมีการจัดกิจกรรมเสวนา ภายใต้ธีมงาน “ERIC Next Chapters” Igniting a Green Awakening ปลุกและปล่อยพลังสายกรีน จากผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ และ Green Influencers ชื่อดัง
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ได้ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในวาระวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ครบรอบ 50 ปี พร้อมมอบของที่ระลึกแก่ รองศาสตราจารย์ ดร. พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม และร่วมลงนามแสดงความยินดีเนื่องในวาระการครบรอบดังกล่าว
🎉🎉 ศสอ. ร่วมแสดงความยินดีครบรอบ 36 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 🎊🎊
วันที่ 24 กันยายน 2567 รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ได้ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในวาระวันคล้ายวันสถาปนาวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ครบรอบ 36 ปี พร้อมมอบของที่ระลึกแก่ ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และร่วมลงนามแสดงความยินดีเนื่องในวาระการครบรอบดังกล่าว
วันที่ 19 กันยายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้รักษาการรองอธิการบดี ด้านกิจการพิเศษ พัสดุ และ SDG จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติกล่าวเปิดงานบรรยายพิเศษในหัวข้อ “LCA of Reclamation vs Destruction of Refrigerant” โดย Professor Dr. Norihiro ITSUBO from the Faculty of Science and Engineering, Waseda University ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินงานโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร มีการแนะนำศูนย์และแนวทางการจัดการของเสียอิเล็กทรอนิกส์ โดยกิจกรรมการบรรยายนี้มีผู้ร่วมงาน 68 ท่าน จากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการบรรยายนี้ได้รับฟังประสบการณ์จากการดำเนินงานจัดการของเสีย โดยเฉพาะของเสียอิเล็กทรอนิกส์ และสารทำความเย็น ปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงาน และข้อมูลเปรียบเทียบการจัดการสารทำความเย็นโดยการ Reclamation เปรียบเทียบกับการ Destruction เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เข้าร่วมพิธีเปิดสมาคมคุณภาพอากาศ ภูมิอากาศ และสุขภาวะ (ประเทศไทย) ณ ห้องประชุม 1209 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.มณีรัตน์ องค์วรรณดี นายกสมาคมฯ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน โดยในงานมีการปาฐกถาจากผู้บริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและอภิปรายเพื่อแสดงข้อคิดเห็นและประเด็นต่างๆ ร่วมกัน
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เข้ารับรางวัลส่วนงานด้านความปลอดภัย ระดับ Silver Award 🥈 พร้อมกับนางสาวฉันทนา อินทิม นักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการ ที่ได้รับรางวัลบุคลากรด้านความปลอดภัย ระดับ Silver Award 🥈 ในงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety Well-work & Well-being 2024: Empowering a Sustainble Society through Safety Innovation, Wellness, and Climate Action ซึ่งจัดโดย ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) ณ ห้องประชุมลีลาวดี อาคารพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา (อาคาร 1) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการจัดเสวนา บูธกิจกรรม นิทรรศการผลงานที่ส่งเสริมด้านความปลอดภัย และ ศสอ. ได้เข้าร่วมจัดบูธกิจกรรมในงานนี้ด้วย
วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ดร.มงคลชัย อัศวดิษฐเลิศ นักวิจัย ศสอ. ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ณ ZONE D: SCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ในงาน อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ศสอ.ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลกากอุตสาหกรรมในเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นระบบเตรียมความพร้อมต่อการใช้ประโยชน์และเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ก่อกำเนิดและผู้ที่ต้องการนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว โดยอาจส่งผลต่อการลงทุนหรือการเพิ่มศักยภาพของของเสียให้กลายเป็นวัตถุดิบในรูปแบบอื่นๆในอนาคต ตอบสนองนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหาของเสียประเภทต่างๆอีกด้วย ได้แก่ ของเสียติดเชื้อ ของเสียชุมชน ของเสียอุตสาหกรรม ของเสียพลาสติก และของเสียอิเล็กทรอนิกส์ ให้นำไปสู่กระบวนการการแก้ไขปัญหา การใช้ประโยชน์ รวมไปถึงมาตรการต่างๆที่สนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
โดยสามารถติดตามรายละเอียดและกิจกรรมของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯได้ที่ facebook.com/HubofWasteManagementforSustainableDevelopment
หากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียในมิติต่างๆสนใจ สามารถสมัคร (sign up) เข้าร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญของศูนย์รวบผู้เชี่ยวชาญฯ ได้ที่ www.wmshub.org เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการของเสียของประเทศต่อไป
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นางสาวเจริศา จำปา นักวิจัย ศสอ. ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ณ ZONE D: SCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ในงาน อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND โดยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัย “โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในชุมชนเป้าหมายสู่การเป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการในชุมชนเป้าหมายสู่การเป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยก/ถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการคัดแยก/ถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเครื่องมือป้องกันและควบคุมมลพิษรองรับการคัดแยกที่เหมาะสม และพัฒนาต้นแบบวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยก/ถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีสำหรับเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นางสาวจันท์ศจี ทิพยสุนทรานนท์ นักวิจัย ศสอ. ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ณ ZONE D: SCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ในงาน อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND โดยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัย โครงการ “Provision of Services Relative to End of Waste Management in Thailand Focusing on Plaster Mold Waste” ซึ่งเป็นงานวิจัยนำร่องทดสอบการนำแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์และปลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นผนังยิปซัม สำหรับใช้ในงานก่อสร้าง และส่งเสริมการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกและมีองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์