บทวิทยุ รายการคุยกันสักนิด
สำหรับออกอากาศ วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2560
จัดทำโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.)
ข่าวสารความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องถ่านไฟฉาย
ตอนที่ 1 : องค์ประกอบและอันตรายจากถ่านไฟฉายใช้แล้ว
วันนี้ ศสอ. จะนำเสนอเรื่องราวใกล้ตัวที่หลายๆ คนมักจะรู้สึกสงสัยกันนะครับ นั่นคือ ถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเป็นอันตรายหรือไม่? คำตอบคือ ถ่านไฟฉายที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีหลายชนิด แต่ที่เป็นอันตรายคือ ถ่านแบบชาร์จไฟใช้ใหม่ได้ ซึ่งมีสารอันตราย อันได้แก่ นิกเกิล แคดเมียม และลิเธียม เป็นองค์ประกอบ ถ้าสังเกตจากฉลากจะเห็นคำดังกล่าวปรากฏอยู่ โดยมีตัวย่อว่า NiCd, NiMH, Li-ion และ Li-ion polymer ส่วนถ่านไฟฉายที่ไม่เป็นอันตรายคือ ถ่านอัลคาไลน์ และถ่านคาร์บอน-สังกะสี ซึ่งมีแมงกานีสและสังกะสี เป็นองค์ประกอบหลัก ทั้งนี้ แมงกานีสและสังกะสีนับว่าเป็นแร่ที่มีความเป็นพิษต่ำ คำถามคือ น้ำกรดที่เยิ้มออกมาจากถ่านอัลคาไลน์ หรือถ่านคาร์บอน-สังกะสีใช้แล้ว มีอันตรายหรือไม่? คุณผู้ฟังครับ น้ำที่เยิ้มออกมานั้นเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในถ่านไฟฉาย โดยความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดไอน้ำ ซึ่งไอน้ำนี้จะถูกดูดซับไว้ในผงถ่านที่มีสารนำไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นเจล เมื่อไอน้ำควบแน่นเป็นหยดน้ำ จะทำให้สารนำไฟฟ้ากลายเป็นสารละลายนำไฟฟ้าที่เรียกว่า “สารละลายอิเลคโทรไลต์” ซึ่งถ่านอัลคาไลน์จะมีสารละลายอิเลคโทรไลต์ที่มีสภาพเป็นด่างเข้มข้นในรูปของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ โดยจะถูกดูดซับไว้โดยแผ่นเส้นใยหินในถ่าน ทำให้สารละลายอิเลคโทรไลต์ไม่ไหลเยิ้มออกมา แต่ในบางครั้งเราอาจเห็นเป็นคราบหรือผลึกเกลือสีขาว ส่วนถ่านคาร์บอน-สังกะสีนั้นจะมีสารละลายอิเลคโทรไลต์ที่มีสภาพเป็นด่างอ่อน เช่น แอมโมเนียมคลอไรด์ และสังกะสีคลอไรด์ แต่เนื่องจากถ่านคาร์บอน-สังกะสีมีปลอกหุ้มเป็นแผ่นสังกะสี หุ้มด้วยแผ่นพลาสติกอีกชั้น ทำให้สารละลายอิเลคโทรไลต์สามารถไหลเยิ้มออกมาได้ง่าย การแกะถ่านไฟฉายจึงควรสวมถุงมือและหน้ากากเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
สัปดาห์หน้า เรามาดูกันนะครับว่าจะสามารถนำถ่านไฟฉายใช้แล้ว มาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง