ที่มาและความสำคัญ
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับรองรับการปรับตัวสู่หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต และเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตสีเขียว (Green Growth) ของเมืองโดยเลือกศึกษาการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท “ตู้เย็น” เนื่องจากเป็นประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีปัญหาในการจัดการของเสียประเภทสารทำความเย็นและพอลียูริเทนโฟมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง ดังนั้น การบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างเหมาะสมจะเป็นการสนับสนุนให้แนวคิดการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy)เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความต้องการทรัพยากรใหม่ (Virgin Materials) รวมทั้งทำให้เกิดการจ้างงานสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะช่วยพัฒนาเมืองไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่
ผลการดำเนินโครงการ
จากการศึกษากลไกโดยทดลองใช้ในพื้นที่เมืองพัทยา ทำให้ทราบถึงปัจจัยและมาตรการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการจากความร่วมมือในการจัดการซากตู้เย็นอย่างถูกวิธี เช่น การมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเก็บขน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงอันตรายจากการจัดการซากฯที่ไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งการมีมาตรการจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป โครงการได้พัฒนาเครื่องมือติดตามซากฯ “Pattaya Digital WEEE Manifest” และได้ทำการปรับปรุงออกแบบให้เหมาะสมต่อบริบทของการดำเนินงานโดยผ่านการทดลองใช้ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากนี้ ยังมีการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมดำเนินงานโครงการเพื่อนำซากตู้เย็นเข้าสู่กระบวนการถอดแยกวัสดุส่วนที่รีไซเคิลได้อย่างถูกวิธี ผ่านกลไกห่วงโซ่อุปทานที่เหมาะสมเพื่อให้เมืองพัทยามุ่งไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ
ผลกระทบต่อสังคม
เกิดเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ โดยประชาชน ในเมืองพัทยามีความตระหนัก เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์จากการร่วมขับเคลื่อนกลไก สร้างงานที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน สร้างมูลค่าเพิ่มจากการหมุนเวียนวัสดุ และมีฐานข้อมูลเปิดสำหรับเมืองพัทยาที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับเมืองอื่นๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม