About the project

ชื่อและ email.com สำหรับติดต่อ
นางสาวจันท์ศจี ทิพยสุนทรานนท์ / jansajee.t@chula.ac.th

ที่มาและความสำคัญ

การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีการปนเปื้อนปรอทและโลหะหนักซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและมีโอกาสที่จะสะสมในระบบนิเวศได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบรอบด้านอย่างรอบคอบและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเลซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีการปนเปื้อนอยู่ในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระหว่างและหลังการรื้อถอน ซึ่งในปัจจุบันมีแนวคิดเกี่ยวกับการรื้อถอนท่อขนส่งใต้ทะเล 2 วิธี ได้แก่ การรื้อถอนท่อขนส่งใต้ทะเลออกทั้งหมด (Total Removal) และการปล่อยท่อขนส่งใต้ทะเลไว้ในพื้นที่ (Leave-in-Place; LiP) ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิธีการื้อถอนแบบ LiP โดย ศสอ. และหน่วยงานผู้ร่วมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก Malaysia-Thailand Joint Authority(MTJA) ภายใต้โปรแกรม Research CESS Fund (RCF) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆ ภายใต้นโยบายการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง พฤษภาคม 2569 โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ผลการดำเนินโครงการ

การเก็บตัวอย่างในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และทดลองในห้องปฏิบัติการโดยการจำลองสภาพแวดล้อม เพื่อศึกษาพฤติกรรม รูปแบบ และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของปรอทและโลหะหนักที่อยู่ในทะเล จะนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับแบบจำลองทางอุทกศาสตร์ในการคาดการณ์การแพร่กระจายของมลสารทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมทั้งศึกษากลไกการสะสมในสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ทราบแนวโน้มผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล

ผลกระทบต่อสังคม

ผลการศึกษาภายใต้โครงการวิจัยนี้คาดหวังว่าจะเป็นข้อเสนอแนะและข้อมูลสนับสนุนเพื่อประกอบการพิจารณาในการวาง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับการผลิตปิโตรเลียม โดยมุ่งเน้นที่ประเด็นของผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล เพื่อประกอบกับการศึกษาถึงผลกระทบในมิติเศรษฐกิจและ สังคมควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลต่อเป้าหมายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)