ที่มาและความสำคัญ
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งซากผลิตภัณฑ์ฯ เหล่านี้ จำเป็นต้องจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และเนื่องจากการจัดการซาก ผลิตภัณฑ์ฯ ในปัจจุบันยังขาดระบบการบริหารจัดการที่ครบวงจรตั้งแต่การเก็บรวบรวม การรื้อแยก การขนส่ง การรีไซเคิล และการกำจัด ทำให้ตกเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งบางแห่งยังไม่มีระบบจัดการอย่างถูกต้อง เนื่องจาก ขาดความพร้อมในเรื่ององค์ความรู้และงบประมาณ การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และ การผลักดันให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานระดับนโยบายในการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งปัจจัยประการหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จ นอกจากต้องมีกฎหมาย กำกับดูแลอย่างจริงจังแล้ว การมีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและครอบคลุมในทุกมิติ จะช่วยสนับสนุนทั้งด้านงานวิจัย การวางแผน และกำหนดนโยบายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
ผลการดำเนินโครงการ
จากการคาดการณ์ปริมาณซากผลิตภัณฑ์ฯ จากชุมชนในปี 2563 พบว่ามีปริมาณ 428,113 ตัน/ปี ซึ่งซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ยังถูกเก็บไว้ในครัวเรือนโดยไม่มีการนำไปกำจัดหรือจัดการ อีกส่วนหนึ่งถูกจัดการด้วยกลุ่มรับซื้อของเก่าและ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย และผลจากการสำรวจพฤติกรรม พบว่าประชาชนจัดการซากผลิตภัณฑ์ ตามประเภทและขนาด โดยซากผลิตภัณฑ์ฯ ขนาดเล็กร้อยละ 36-40 ถูกเก็บไว้ในบ้านเรือน ส่วนขนาดใหญ่ร้อยละ 39-55 เรียกผู้กำจัดมารับซื้อที่บ้าน
ผลกระทบต่อสังคม
จากผลการศึกษานำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ควรมีมาตรการให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม มีความตระหนักและร่วมรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ของตนเอง พร้อมทั้งผลักดันให้มีการ ออกกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ทั้งระบบ และส่งเสริมให้มีการนำซาก ผลิตภัณฑ์ฯ เข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด