ที่มาและความสำคัญ
จากแผนอนุรักษ์พลังงานปี พ.ศ. 2558-2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) ได้กำหนดเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2579 ส่งผลให้กระทรวงพลังงานออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าบรรจุไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยมีเป้าหมายให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV)และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) รวม 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2579 คณะทำงานจึงจัดทำโครงการจัดทำยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ต้นแบบประเภทรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าใช้งานภายในประเทศ ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างให้เกิดองค์ความรู้และความร่วมมือจากภาคการศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชนขึ้น ยังเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในอนาคตอีกด้วย
ผลการดำเนินโครงการ
โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนของการทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ระบบการชาร์จไฟ ระบบการขับเคลื่อน และ ระบบบังคับเลี้ยว เป็นต้น และทดสอบการใช้งานจริง โดยยานยนต์ไฟฟ้านี้เป็นระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ รองรับได้ 7 ที่นั่ง พร้อมที่นั่งสำหรับผู้พิการ และทางลาดอัตโนมัติ อีกทั้งยังมีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน ไฟฟ้าจากการเสียบชาร์จ นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งกล้อง 360 องศา พร้อมจุดติดตั้งเซนเซอร์เพื่อรองรับการทำงานยานยนต์ ไร้คนขับในอนาคต
ผลกระทบต่อสังคม
- พัฒนาองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้แก่บุคลากร นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อเป็นผู้นำและแหล่งเรียนรู้ ด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านยานยนต์ไฟฟ้าในระดับประเทศเพื่อมุ่งสู่มาตรฐาน ระดับสากล
- ส่งเสริมและต่อยอดแนวทางการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ