ที่มาและความสำคัญ
แผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของภาครัฐ ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าไว้ที่ 15,000 MW ภายในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณซากเซลล์แสงอาทิตย์สะสมมากกว่า 600,000 ตัน หากซากฯ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้รับการจัดการอย่าง ไม่ถูกต้องเหมาะสมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต จึงได้มีการดำเนินโครงการทดสอบการรีไซเคิลซากเซลล์ แสงอาทิตย์และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งและกำกับดูแลโรงงานนำร่องในประเทศไทย โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ภายใต้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีงบประมาณ 2564 ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ งบประมาณของกองทุนฯ ที่ต้องการจะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานดังกล่าวและเป็นการต่อยอดผลการศึกษาจากโครงการพัฒนามาตรฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้งบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยได้มอบหมายให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เป็นที่ปรึกษา ในการดำเนินโครงการ
ผลการดำเนินโครงการ
จากผลการศึกษาและทดสอบการรีไซเคิลซากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้มีการทดสอบกับเครื่องจักรที่มีกระบวนการที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การออกแบบกระบวนการการรีไซเคิลซากฯ เพื่อจัดทำโมเดลต้นแบบและสื่อวิดีทัศน์นำเสนอกระบวนการรีไซเคิล
ผลกระทบต่อสังคม
การรีไซเคิลซากเซลล์แสงอาทิตย์จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยลดปริมาณ ซากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลซากเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์ภายในประเทศ