ที่มาและความสำคัญ
ประเทศไทยมีแผนส่งเสริมการใช้เซลล์แสงอาทิตย์์ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งแผนดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์สะสมไม่ต่ำกว่า 106,000 ตัน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์ หาช่องว่าง (Gap Analysis) ของการใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คือ การผลิต การใช้งาน การรวบรวม และการกำจัด/การรีไซเคิลซากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นโดยอาศัยหลักเศรษฐกิจ หมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจรตั้งแต่ การผลิต/นำเข้า การใช้งาน การรวบรวม และการกำจัดหรือการรีไซเคิลเพื่อให้เกิดเป็นขยะขั้นสุดท้ายน้อยที่สุดตามหลัก Zero Waste และส่งผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยจะนำหลัก 4 แนวคิดของการสร้างคุณค่าผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1) การใช้วัสดุภายในวงจร 2) การยืดอายุวงจร 3) การใช้ใหม่ในลำดับต่อๆ ไป และ 4) ทำปัจจัยนำเข้าให้บริสุทธิ์
ผลการดำเนินโครงการ
- สามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดใช้ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาเสริมศักยภาพตามช่องว่างในด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)
- ทำให้ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถพัฒนาต่อยอดในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้การเข้าถึงการใช้พลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์เป็นที่แพร่หลายและเท่าเทียมยิ่งขึ้น
- สามารถคาดการณ์ปริมาณการใช้งานและปริมาณซากที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์
ผลกระทบต่อสังคม
ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของเซลล์แสงอาทิตย์และผู้ที่สนใจสามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดในส่วนต่างๆ และเป็นการเผยแพร่ผลกระทบในด้านต่างๆ ให้แก่สังคมได้ทราบ เพื่อประโยชน์ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรมและประชาชน