เมื่อวันที่ 23 -26 เมษายน 2567 รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม คุณวานิช สาวาโย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กรมควบคุมมลพิษ คุณประโชติ กราบกราน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ดร.กิตติพันธุ์ บางยี่ขัน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกรรม) สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม ประจำกรุงโตเกียว ร่วมกับประธานกลุ่มของเสียอุตสาหกรรม (ดร.ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ) ของเสียพลาสติก (ผศ.ดร. มานิตย์ นิธิธนากุล) ของเสียติดเชื้อ (รศ.ดร.สุเทพ ศิลปานันทกุล) และคณะนักวิจัยจากศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัย และโรงงานอุตสาหกรรมด้านการจัดการของเสียประเภทต่างๆ ภายใต้ “การศึกษาดูงานการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน” ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยคณะผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงานได้เข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัย และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ณ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ที่เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีเซนเซอร์ในแบบจำลอง AI เพื่อรักษาคนไข้ รวมถึงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการนำดินมาวิเคราะห์การเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น อีกทั้งยังมีโอกาสอันดีที่ได้รับทราบสถานการณ์การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และนโยบายการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตและหน้าที่ของผู้บริโภค กับ the Association for Electric Home Appliances (AEHA) และยังมีโอกาสได้เข้าหารือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of the Environment, Japan) ในการจัดทำแผนแม่บทจัดการขยะอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการขนขยะข้ามประเทศ และการสร้างความร่วมมือสนับสนุนด้านวิชาการ ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายประเทศต่อไป
นอกจากนี้คณะผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานยังได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงานที่ดำเนินการจัดการของเสียแต่ละประเภท ได้แก่
- J&T Recycling Corporation โดยเน้นการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกในเขตเมืองโยโกฮามา เพื่อนำมาอัดก้อนก่อนส่งไปจำหน่ายเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
- Tokyo Rinkai Eco Green and J&T Recycling Corporation มีการใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานในการจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียติดเชื้อ
- JFE Urban Corporation โรงงานถอดแยกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 4 ประเภท ได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ อย่างมีประสิทธิภาพและมีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อทุ่นแรงคนในการทำงาน
- Kawasaki PET bottle recycling factory โรงงานรวบรวมของเสียพลาสติกที่มีการคัดแยกแล้ว และมีการเตรียมวัตถุดิบเพื่อผลิต rPET
- Keiaisha Co.,LTD at Yokohama Vehicle Recycling โรงงานรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์และกำจัดซากรถยนต์สิ้นสภาพ
ซึ่งจากการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการของเสียอย่างยั่งยืนในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อคณะผู้ศึกษาดูงานและนักวิจัย เพื่อต่อยอดและนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบาย กฎหมาย พร้อมทั้งนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป