ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Hub of Waste Management for Sustainable Development : WMS HUB) ภายใต้ การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การจัดการของเสียในประเทศไทยและอาเซียนมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ (Keynote Speaker) อาทิเช่น

  • ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะกรรมการกำกับและติดตามการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  • รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 10 ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ’
  • ดร.ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • ดร.นภาพร ตั้งถิ่นไท นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ

พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียที่นำเสนอแนวคิด และประสบการณ์อีกหลายท่าน โดยมีเข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา สถาบันการวิจัย หน่วยงานผู้ให้ทุน และภาคประชาสังคม เป็นจำนวนมาก การประชุมดังกล่าวทำให้ได้ทราบถึงทิศทางงานวิจัยต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม นโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โจทย์และทิศทางงานวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากหน่วยงานให้ทุน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการจัดการของเสียทั้งในประเทศและระดับอาเซียน


website : wmshub.org

facebook : https://www.facebook.com/HubofWasteManagementforSustainableDevelopment/

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Hub of Waste Management for Sustainable Development) ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ได้จัดการสัมมนา “สถานการณ์การจัดการของเสียและนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน” ณ ห้องจามจุรี บอลรูม บี โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการของเสียให้เป็นไปตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน เน้นการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาจากทั้งภาคสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นจำนวนมาก โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกลุ่มของเสียชุมชน ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายรับรองระบบ และกำกับดูแลสายธุรกิจ Conformity Assessment Bodies สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

กรมโรงงานฯ ร่วมกับ GIZ จัดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Climate Action Programme for the Chemical Industry (CAPCI): Supporting the Development of a National Roadmap on Sustainable Chemical and Climate Change for Thailand โดยมี ดร. เดสเลฟ ชไรเบอร์ (Dr. Detlef Schreiber) ผู้อำนวยการโครงการ CAPCI องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมบรรยายพิเศษการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีที่ยั่งยืนในประเทศต่าง ๆ และมีนางสาวอารยา ไสลเพชร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นางสาวปานทอง ศรีคัฒนพรหม รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการศึกษาวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาโครงการฯ และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวม 97 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ

อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยมีการปล่อยจากภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มากเป็นลำดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมอโลหะ/ซีเมนต์ อุตสาหกรรมเคมีจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการปัญหาโลกร้อน รวมทั้งเป็นโอกาสในการลงทุนและพัฒนาธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำต่อไป ทั้งนี้ แผนที่นำทางฯ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากโครงการ CAPCI ภายใต้ความร่วมมือไทย-เยอรมันนี้ จะเป็นกรอบแนวทางสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีคาร์บอนต่ำและยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

ที่มา: https://www.facebook.com/diwindustrial

📑🌏♻️🏢ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “เครื่องมือประเมินความเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงผลลัพธ์ขององค์กร โดยการใช้ผังการไหลของโมเดลการผลิต การบริโภค และการจัดการของเสีย” กิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือประเมินความเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงผลลัพธ์ของ องค์กร โดยการใช้ผังการไหลของโมเดลการผลิต การบริโภค และการจัดการของเสีย สนับสนุนโดย: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) (ผู้ให้ ทุน) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ให้ทุนร่วม)ในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 – 13.00 น. ณ ณ ห้อง Sky 1 ชั้น 6 โรงแรม Skyview สุขุมวิท 24 จ.กรุงเทพฯ และรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 53 ท่าน งานสัมมนานี้ได้มีการนำเสนอผลดําเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และสามารถใช้ในการติดตามและประเมินผล ช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงยังมีศักยภาพในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และความสัมพันธ์เชิงกลุ่มอุตสาหกรรมหรือเชิงพื้นที่ได้ พร้อมทั้งระบุจุดที่ยังมีโอกาสในการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยใช้การวิเคราะห์ผังการไหลของวัสดุที่เข้าและออกจากองค์กร ตามโมเดลการผลิต-การบริโภค-การจัดการของเสีย โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์รับฟังความคิดเห็น รวมถึงเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการแห่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกลุ่มของเสียชุมชน ร่วมกับคุณภัทรพล ตุลารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญของเสียชุมชน ดร.มงคลชัย อัศวดิษฐเลิศ ผู้ช่วยศูนย์ฯ และคุณเจริศา จำปา ผู้ประสานงานของเสียชุมชน ภายใต้ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Hub of Waste Management for Sustainable Development)” ได้เข้าร่วมประชุมกับ Mr. Jordan Kimball เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการวิจัยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ของเสียอย่างยั่งยืนต่อไป

ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Hub of Waste Management for Sustainable Development) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินงานโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การกำหนดโจทย์วิจัยด้านการจัดการของเสียชุมชน” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยเป็นการประชุมแบบ online และ on-site ณ ห้องประชุมกรรณิการ์ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยส์ ในการประชุมดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย เข้าร่วมประชุมจำนวน 70 คน โดยมีการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน แนะนำประธานกลุ่มของเสียชุมชน และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งร่วมกันระดมความคิดเห็นสร้างโจทย์วิจัยตามกรอบแนวทางยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายผลการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียชุมชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการจัดการของเสียชุมชนต่อไป

♻️🌏 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Hub of Waste Management for Sustainable Development) ซึ่งดำเนินงานโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ได้จัดการประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงาน การสร้างฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ และการกำหนดทิศทางงานวิจัย โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ จากหลายภาคส่วนเข้าร่วมการประชุมและเป็นประธานคณะทำงานของแต่ละกลุ่มประเภทของเสีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาและดำเนินงานของศูนย์รวบรวมฯ พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของการจัดการของเสีย

🏭💻☣️ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Hub of Waste Management for Sustainable Development ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลสำหรับการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียอย่างครบวงจรจากภาคส่วนต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กากอุตสาหกรรม ขยะชุมชน ของเสียอิเล็กทรอนิกส์ มูลฝอยติดเชื้อ และขยะพลาสติก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือระหว่าง นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการของเสียทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ครอบคลุมทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรมและการบริการ รวมทั้งภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการจัดการของเสียที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน

ผ่านพ้นไปแล้วกับกิจกรรม งาน Technomart 2022 งานแสดงผลงานวิจัยพร้อมใช้ เทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นโดยฝีมือคนไทย ภายใต้ Concept “เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
การจัดงานครั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ได้รับเกียรติในการจัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “นวัตกรรมสีเขียว…คืนคุณภาพชีวิต สู่สิ่งแวดล้อมยั่งยืน Go Green with HSM … for Better Life” และนำผลงานวิจัยไปจัดแสดงดังนี้
• เรื่อง “เอนไซม์ล้างผักและผลไม้ (M-Green)”
• เรื่อง “แผ่นกรองจากถ่านชีวภาพผสม ZnO”
• เรื่อง “MicroClear ชีวภัณฑ์กำจัดขยะพลาสติก”
• เรื่อง “ระบบติดตามขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว”
💚 ศสอ. ขอขอบพระคุณ สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( PERDO ) รวมถึงอาจารย์และนักวิจัยทุกท่านที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมดีๆ เพื่อช่วยพลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน และที่สำคัญได้แก่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถรับชมบรรยากาศในงาน กิจกรรมเสวนาและการจัดแสดงผลงานทางวิชาการจากศูนย์ความเป็นเลิศฯทั้ง 11 ศูนย์ได้ที่ 👉 https://web.facebook.com/profile.php?id=100080676248430

👏 ศสอ. ได้รับเกียรติเข้าร่วมพิธีแถลงข่าวงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2565 หรือ “TechnoMart 2022” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2565 ณ ลิฟวิ่ง ฮอล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

📷ในช่วงท้ายของพิธีแถลงข่าวดังกล่าว นอกจากนั้น ประธานในพิธี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยจัดงาน ได้เยี่ยมชมตัวอย่างผลงานการจัดแสดงของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ที่จะนำมาจัดแสดงจริงในวันที่ วันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ภายใต้แนวคิด BCG สู่เศรษฐกิจ สร้างคุณค่า “เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

📌สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ทั้ง 2 รูปแบบ (Hybrid Exhibition) ดังนี้
📅รูปแบบ Onsite ตั้งแต่ วันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และบริเวณทางเชื่อมศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์
💻รูปแบบ Online ที่ https://www.technomart2022.com และhttps://www.facebook.com/TechnoMartThailand/ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน – 28 พฤศจิกายน 2565

🙏ข้อมูลโดย :
กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02-333-3927

ศสอ.ให้การต้อนรับคณะผู้ตรวจเยี่ยมจาก สป.อว. กองส่งเสริมและประสานงานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุม 207 ชั้น 2 อาคารวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย