เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Hub of Waste Management for Sustainable Development) ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ได้จัดการสัมมนา “สถานการณ์การจัดการของเสียและนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน” ณ ห้องจามจุรี บอลรูม บี โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการของเสียให้เป็นไปตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน เน้นการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาจากทั้งภาคสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นจำนวนมาก โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกลุ่มของเสียชุมชน ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายรับรองระบบ และกำกับดูแลสายธุรกิจ Conformity Assessment Bodies สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

📑🌏♻️🏢ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “เครื่องมือประเมินความเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงผลลัพธ์ขององค์กร โดยการใช้ผังการไหลของโมเดลการผลิต การบริโภค และการจัดการของเสีย” กิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือประเมินความเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงผลลัพธ์ของ องค์กร โดยการใช้ผังการไหลของโมเดลการผลิต การบริโภค และการจัดการของเสีย สนับสนุนโดย: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) (ผู้ให้ ทุน) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ให้ทุนร่วม)ในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 – 13.00 น. ณ ณ ห้อง Sky 1 ชั้น 6 โรงแรม Skyview สุขุมวิท 24 จ.กรุงเทพฯ และรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 53 ท่าน งานสัมมนานี้ได้มีการนำเสนอผลดําเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และสามารถใช้ในการติดตามและประเมินผล ช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงยังมีศักยภาพในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และความสัมพันธ์เชิงกลุ่มอุตสาหกรรมหรือเชิงพื้นที่ได้ พร้อมทั้งระบุจุดที่ยังมีโอกาสในการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยใช้การวิเคราะห์ผังการไหลของวัสดุที่เข้าและออกจากองค์กร ตามโมเดลการผลิต-การบริโภค-การจัดการของเสีย โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์รับฟังความคิดเห็น รวมถึงเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป