ประธานกลุ่มของเสียพลาสติก ร่วมลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับหน่วยงานในการรีไซเคิลวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ไม่ติดเชื้อ) ที่ผลิตจาก PVC จากโรงพยาบาล

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ผศ.ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล ประธานกลุ่มวิจัยของเสียพลาสติก ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WMS-HUB) ร่วมกับ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี และสมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการ “การจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากพีวีซีหลังการใช้งาน จากขยะไม่ติดเชื้อสู่วัสดุรีไซเคิล” ณ ห้องแมนดาริน เอ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.มงคลชัย อัศวดิษฐเลิศ ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการและรีไซเคิลขยะทางการแพทย์ PVC ที่ไม่ติดเชื้อ” โดยมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืน และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ทั้งในระบบห่วงโซ่อุปทานของพลาสติก PVC ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รีไซเคิล และหมุนเวียนสู่ผู้ผลิตอีกครั้งผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน 2567 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จัดงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “สถานพยาบาลไทย: มุมมองใหม่ สู่การลดของเสียเพื่อความยั่งยืน” ณ ห้องแมนดาริน บี โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดย รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร หัวหน้าศูนย์ฯ ได้กล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมศูนย์ฯ ภายในงานสัมมนาได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรยายในประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งในด้านสถานการณ์มูลฝอยติดเชื้อ ความปลอดภัย ถอดความสำเร็จ และแนวทางการจัดการพลาสติก (ไม่ติดเชื้อ) ในสถานพยาบาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นวิทยากร ดังนี้
• รศ.ดร.สุเทพ ศิลปานันทกุล ประธานกลุ่มมูลฝอยติดเชื้อ
• คุณประโชติ กราบกราน กรมอนามัย
• นายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
• นายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร จากรพ.น่าน
• ผศ.ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล ประธานกลุ่มของเสียพลาสติก
การสัมมนาครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการจัดการของเสียพลาสติก (ไม่ติดเชื้อ) ในสถานพยาบาล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและยกระดับมาตรฐานการจัดการขยะในประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 60 ท่าน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแนวทางการจัดการของเสียพลาสติก (ไม่ติดเชื้อ)ได้จากลิงก์ที่แสดงในความคิดเห็นแรกของโพสต์