🎊🎊 วันที่ 6 มีนาคม 2568 กองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา “ผลสำเร็จของการ Update/Upgrade ธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี Recycle/Upcycle เพื่อเข้าสู่ตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ภายใต้ “โครงการพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี” ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
🏷️ การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวอารยา ไสลเพชร รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นประธานในการเปิดงาน โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เข้าร่วมการสัมมนาจำนวนกว่า 80 คน
🏷️ ผลจากการดำเนินงานโครงการในปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีรีไซเคิล/อัพไซเคิล รวมทั้งมีสถานประกอบการที่ได้รับคำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยได้นำเทคโนโลยีรีไซเคิล/อัพไซเคิลมาประยุกต์ใช้ในการประกอบการ จำนวน 4 กิจการ ได้แก่
✅การรีไซเคิล/อัพไซเคิลน้ำเสียโดยการยืดอายุการใช้งานของน้ำล้างชิ้นงานจากกระบวนการชุบชิ้นส่วนรถยนต์
✅การรีไซเคิล/อัพไซเคิลฝุ่นเหล็กจากระบบบำบัดอากาศที่ปนเปื้อนน้ำมันคูลแลนท์โดยการนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตสังกะสีออกไซด์ด้วย Waelz Process
✅การรีไซเคิล/อัพไซเคิลกากปูนขาวจากอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ โดยการนำไปเป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมการผลิตไม้เทียม
✅การรีไซเคิล/อัพไซเคิลเศษไม้พาเลทโดยการใช้เป็นวัสดุดูดซับน้ำมันคูลแลนท์สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผสม
🏷️ จากการดำเนินงานครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากต้นทุนที่ลดลงหรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น 💵 ไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี และหากมีการนำต้นแบบที่ได้พัฒนาตามแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ต่ำกว่า 200 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่า) ต่อปี ซึ่งยังไม่นับรวมมูลค่าทาง💰 เศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม